“เราใช้เงิน” หรือ “เงินใช้เรา” เมื่อความรับผิดชอบหาย เราจึงกลายเป็นทาสของเงิน

ความแตกต่างระหว่าง “เราใช้เงิน” กับ “เงินใช้เรา”

เราใช้เงิน หรือ เงินใช้เรา เป็นคำถามที่เกิดขึ้นมา หลังจากผมได้ฟังเรื่องราวและมุมมองของมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง ที่ปล่อยให้เงินไหลไป ไหลมา โดยไม่ควบคุมตอบไม่ได้ว่าเงินหายไปไหน ใช้อะไรไปบ้าง จนทำให้เงินไม่พอใช้ถึงสิ้นเดือน

เอาเงินเก็บมาใช้บ้างล่ะ ยืมเพื่อนก่อนบ้างล่ะ ตัดบัตรไปก่อนบ้างล่ะ สุดท้ายก็ก่อเป็นหนี้ติดตัว พอเงินเดือนออกก็เอาไปใช้คืน แล้วพอเงินไม่พอก็ต้องไปขอยืมใหม่ หมุนเงินไปเรื่อยๆ แบบนี้ ไม่รู้จบ ราวกับว่ากำลังถูกเงินบงการใช้อยู่ อย่างไรอย่างนั้น

ตัดกลับมาที่อีกคนหนึ่งรู้ทุกความเคลื่อนไหวของเงิน เงินเข้าก็รู้ เงินออกก็รู้ เหลือเท่าไรก็รู้ ทำให้เขาสามารถบริหารจัดการเงินของตัวเองได้ ปัญหาใช้เงินแบบเดือนชนเดือน เลยแทบไม่มีให้เห็น แถมมีเงินเก็บสำรองไว้อีกต่างหาก

ผมจึงได้เข้าใจในทันทีว่านี่สินะคือสิ่งที่เรียกว่า “เราใช้เงิน” ไม่ใช่ “เงินใช้เรา”

สิ่งที่ 2 คนนี้มีต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเลย คือ “ความรับผิดชอบ” ต่อเงินของตัวเอง
– แต่ละเดือนเงินเหลือไหม เหลือเท่าไร?
– จำได้ไหม เดือนๆ นึงเราจ่ายอะไรไปบ้าง?
– เงินเดือนออกแล้ว ต้องแบ่งไปใช้อะไรบ้าง?

ถ้าสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ เชื่อได้เลยครับว่าความรับผิดชอบต้องเกิดกับทุกคน แน่นอน! คำถามสำคัญคือ แล้วตอนนี้เราเป็นคนแบบไหน? ระหว่าง “เราใช้เงิน” หรือ “เงินใช้เรา”

4 ขั้นตอน สร้างความรับผิดชอบเรื่องเงินให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับคนที่สงสัยว่า แล้วเราจะสร้างความรับผิดชอบได้อย่างไร พอจะมีแนะนำเป็นข้อๆ หรือไม่ ผมมี Hint ให้ลองเอาไปทำตามกันดูนะครับ

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า เมื่อเราใช้ชีวิต ก็ต้องไม่ลืมที่จะสร้างชีวิตด้วยเช่นกัน มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยสอนผมไว้ว่า “ความรับผิดชอบเรื่องเงิน” จะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจาก “รักตัวเอง” ก่อน เงินเข้ารู้ เงินออกรู้ เงินเหลือเท่าไรก็ต้องรู้ รู้ทุกความเคลื่อนไหวของเงิน ควบคุมเงิน ไม่ปล่อยให้เงินมาควบคุมเรา แบบนี้ถึงเรียกว่า “รักตัวเอง”

ซึ่งพอรักตัวเองแล้ว “ความรับผิดชอบเรื่องเงิน” จะเกิดขึ้นได้ด้วย 4 ขั้นตอนนี้ครับ

1. ต้องรู้ก่อนว่า .. เราต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง?

บางคนอาจจะเป็นเรื่อง บ้าน รถ หรือครอบครัว แต่สิ่งสำคัญที่สุดและทุกคนมีเหมือนกันคือ ต้องรับผิดชอบต่อตัวเองในตอนนี้ (หมายถึงถ้าเราป่วย หรือจากไปต้องรู้ว่าเราจะดูแลรับมืออย่างไร) รวมถึงต้องรับผิดชอบต่อตัวเองในอนาคตด้วย (หมายถึงตอนที่เราเกษียณอายุแล้วไม่มีงานทำ เราต้องรู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนใช้)

2. รู้ว่าความรับผิดชอบ มีมูลค่าเท่าไร?

อยากให้เพื่อนๆ ลองทำเป็นตาราง 3 ช่องดูครับว่า

  • ช่องแรก : รายการที่ต้องรับผิดชอบ
  • ช่องสอง : มูลค่าของช่องนั้นเท่าไร
  • ช่องสาม : ต้องใช้เมื่อไร

ยกตัวอย่างเช่น

  • ช่องแรก : รถยนต์ 1 คัน เพื่อใช้ขับไปทำงาน
  • ช่องสอง : มูลค่า 350,000 บาท มีผ่อนมาบ้างแล้วส่วนหนึ่ง ตอนนี้เหลือต้องจ่ายอีก 200,000 บาท
  • ช่องสาม : เหลือผ่อนอีก 3 ปี, ผ่อนเดือนละ 6,500 บาท

ซึ่งถ้าเราตอบได้ครบทุกรายการ เราจะเห็นว่าทั้งหมด ที่เราต้องรับผิดชอบมีมูลค่าจริงๆ เท่าไร?

3. วางแผนหาเงิน เพื่อให้พอต่อความรับผิดชอบ

เมื่อเราเห็นแล้วว่า มีส่วนไหนที่เราต้องรับผิดชอบ และแต่ละส่วนต้องใช้เงินเท่าไร คำถามต่อมาคือ “หาเงินจากไหนได้บ้าง” ซึ่งในความเป็นจริง เรามี 2 ทางเลือกนะครับ ในการจัดการกับความรับผิดชอบเหล่านี้ คือ

  • ทางเลือกที่ 1 – รับผิดชอบเอง โดย “หาเงิน” เพิ่มเอง
  • ทางเลือกที่ 2 – ให้คนอื่นช่วยรับผิดชอบ เช่น ประกัน

ในส่วนของทางเลือกที่ 1 “หาเงิน” เราจะหาจากไหนได้บ้าง ผมมองว่าเราทำได้ 4 วิธีครับ

วิธีที่ 1) หาจากงานประจำที่ทำอยู่
เงินก้อนนี้ ถือเป็นสายน้ำหลัก ที่ต้องจัดการให้ดีๆ แบ่งสันปันส่วนทั้งที่ต้องใช้ในระยะใกล้ และระยะไกล หัวใจสำคัญคือ เราต้อง “มีเหลือ”

วิธีที่ 2) หาจากงานเสริม OT หรือ ธุรกิจ
เงินก้อนนี้ มีเพื่ออิสระในการใช้ชีวิต หากวางแผนและลงมือทำให้ดีๆ อาจใช้ทดแทนงานประจำก็เป็นไปได้

วิธีที่ 3) หาจากการลงทุน
อาจจะใช้เวลาหน่อย สำหรับคนที่ไม่มีเงินก้อนโต เหมาะกับเป้าหมายในระยะยาวครับ เช่น เกษียณอายุ

วิธีที่ 4) หยิบยืมเงินคนอื่น
ข้อนี้ใช้เมื่อยามจำเป็นจริงๆ นะครับ

4. วางแผนใช้จ่าย

ในส่วนของการบริหารค่าใช้จ่ายนั้น อยากให้เริ่มจาก Review ลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายของตัวเองก่อน เรียงจากส่วนที่เราคิดว่า “จำเป็นมาก” ไล่ไป “จำเป็นน้อย“ จากนั้นลอง “ประเมินต้นทุน” จริงๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น ซื้อรถมาแล้วเราไม่ได้จ่ายแค่ค่ารถคันนั้น เรายังมีค่าน้ำมัน ค่าจอดรถ ค่าซ่อมบำรุง บลาๆ ตามมาอีก อย่าลืมคำนวณ ต้นทุนทั้งก้อน ก่อนตัดสินใจนะครับ

ถ้าเราตัดสินใจแล้วว่า ของมันต้องมี จำเป็นจริงๆ ให้เรา “วางแผนชำระหนี้“ ต่อครับว่าต้องจ่ายเมื่อไร จ่ายเท่าไร เหลือบกลับไปดูสภาพคล่องต่อเดือนสักนิดว่าเรายังไหวอยู่ใช่ไหม ถ้าไหวก็ “ลุย” ครับ และสุดท้าย หากวางแผนใช้จ่ายหมดแล้ว อย่าลืม จ่ายให้ตัวเอง (สำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอน) ด้วยการ “เก็บออม และ ลงทุน” ด้วยนะครับ

สุดท้าย

แล้วจะรู้ได้ไงว่าเรามีความรับผิดชอบแล้ว? เช็คง่ายๆ ไม่ยากเลยครับ เพราะเราจะรู้ได้ทันที แบบไม่ต้องมีใครเตือนเลยว่า .. เงินเราหายไปไหน ตอบได้เท่ากับ มีความรับผิดชอบ แล้วครับ!