จากตอนที่แล้ว “มีแผนเกษียณตั้งแต่ Day 1” หลายคนตั้งคำถามต่อว่า .. แล้วแผนเกษียณมันต้องทำอย่างไร? วันนี้ผมจะมาลงวิธีการแบบเน้นๆ ให้ครับ แบ่งเป็น 6 Steps ด้วยกัน และออกแบบมาสำหรับ “ผู้เริ่มต้น” โดยเฉพาะ มีอะไรบ้างไปอ่านและลงมือทำกันเลย
1. เช็คตัวเองว่า พร้อมหรือยัง? ที่จะเริ่มต้นรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง
การตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญ จะให้คนอื่นมาตัดสินใจ หรือมาบังคับไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของเราเอง เช่น ถ้ามีคนมาบังคับให้เราออกกำลังกาย ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ครับ! แต่แป๊บเดียวก็เลิก หรือ หยุดทำ เพราะมันไม่ได้เกิดมาจากการตัดสินใจของตัวเราเอง
เรื่องเงินก็เช่นเดียวกันครับ ไม่มีใครทำให้เรารวยได้ถ้าเราไม่อยาก และไม่มีใครทำให้เราจนได้ถ้าเราไม่ยอม ดังนั้น ข้อแรกเลย คือ..ถามตัวเองก่อนว่า พร้อมมั้ย? ที่จะรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ยาวๆ หลังจากนี้
ถ้าคำตอบคือ พร้อม!! เราไปลุยข้อ 2 กันครับ
2. สามารถจัดการ “รายรับ” ได้มากกว่า “รายจ่าย” ต่อเดือน
First Step ของการบริหารเงิน คือ “สภาพคล่อง” ครับ พูดง่ายๆ คือ ต้องมีเงินเหลือในแต่ละเดือน (ทำอย่างไร ผมมีเขียนไว้ในหัวข้อ “ก้าวแรกมีเงินเหลือ” ลองกลับไปอ่านแล้วทำตามได้ครับ)
เมื่อผ่านข้อนี้ได้แล้ว เราจะใช้เงินเหลือตรงนี้แหละ ไปวางแผนใช้ตอนเกษียณกันครับ
3. ตอนนี้มีเงิน “เหลือเก็บ” เท่าไร แล้วต้อง “เก็บเพิ่ม” อีกเท่าไรเพื่อเกษียณ (หรือ หลายคนเรียกว่า “ตั้งเป้าหมายเกษียณ” ของตัวเองครับ)
เมื่อเรารู้แล้วว่า เราเหลือเก็บเท่าไร เช่นจากข้อสอง เราเหลือเก็บ 10,000 บาทต่อเดือน ผมแนะนำให้ทำ 2 อย่างครับ
3.1 เปลี่ยน “เงินเหลือเก็บ” ให้เป็น “เงินออมประจำเดือน”
เช่น บังคับว่า หลังจากนี้เราจะเก็บเดือนละ 10,000 บาท เพื่อเป้าหมายเกษียณของเรา เพราะ ทันทีที่เรามองเงินเก็บ เป็นรายจ่ายประจำทุกเดือน สมองจะสั่งการให้เราลดรายจ่ายตัวอื่น เพื่อเก็บเงินแบบอัตโนมัติทันที
3.2 ต้องเก็บเพิ่มอีกเท่าไร? ถึงพอใช้ในวันเกษียณ
ซึ่งตรงนี้แหละ คือจุดเริ่มต้นของการ “ตั้งเป้าหมาย” ซึ่งวิธีการตั้งเป้าหมายเกษียณมี 3 ปัจจัยที่ต้องคิด
- ปัจจัยแรก : ช่วงเวลาที่เราต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณ (วันเกษียณ จนถึง วันสุดท้ายของชีวิต) เช่น อายุ 50 ถึง 85 = ช่วงเวลา 35 ปี
- ปัจจัยที่สอง : วันนั้น เราจะใช้เงินเดือนละเท่าไร คำนวณจากค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เช่น ค่ากิน ค่าเดินทาง ค่าท่องเที่ยว เดือนละ 20,000 บาท
- ปัจจัยที่สาม : วันนั้น นอกจากเงินที่เตรียมไว้ มีเรื่องอื่นอีกไหมที่เราต้องรับผิดชอบ
เช่น ค่ารักษาพยาบาล, ค่ารถ, ค่าบ้าน หรือ มรดกที่ตั้งใจให้ลูกหลาน (แต่โดยปกติ เรามักจะเคลียร์ภาระ เช่น บ้าน, รถ ให้จบก่อนวันเกษียณครับ)
จาก 3 ปัจจัยข้างบนนี้ เราสามารถเอามาคำนวณเพื่อตั้งเป็นเป้าหมาย ได้ตามตัวอย่างนี้ครับ
ยกตัวอย่าง
สมมติต้องการใช้เดือนละ 20,000 บาท x 12 เดือน หรือ = 240,000 บาทต่อปี และ คาดว่าจะใช้ชีวิต 35 ปี (240,000 x 35 = 8.4 ล้านบาท) รวมเป็นเงินที่ต้องเตรียมไว้ใช้ 8.4 ล้านบาท และนี่คือเป้าหมายเกษียณของเราครับ
เมื่อเรามีเป้าหมายแล้ว เราต้องเก็บเพิ่มอีกเท่าไรนะ?
เริ่มต้นจาก คำนวณดูก่อนว่าจากวันนี้จนไปถึงวันเกษียณ (ซึ่งจากตัวอย่างคือ อายุ 50 ปี) เรามีเวลาเหลือเท่าไร และต้องเก็บเงินเพิ่มเดือนละเท่าไร
สมมติ ตอนนี้อายุ 25 ปี = เหลือเวลา 25 ปี ที่จะเก็บเงิน เมื่อเอา 8.4 ล้านบาท หารด้วย 25 ปี = ต้องเก็บอย่างน้อย เดือนละ 28,000 บาท ถึงจะพอดี (ซึ่งนี่ยังไม่ได้รวมเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี ถ้ารวมเงินเฟ้อด้วย อาจจะต้องเก็บมากกว่านี้เป็น 2 เท่า หรือเกือบๆ 60,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว ยังไม่รวม ค่ารักษาพยาบาล, มรดก ด้วยนะ ซึ่งแนะนำว่าให้เริ่มต้นคิดและวางแผนพร้อมกันไปเลย)
4. เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายข้อ 3 วันนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อที่จะไปถึงเป้าหมาย
มี 4 วิธีแนะนำครับ
-
วิธีที่หนึ่ง “ลดรายจ่าย”
ซึ่งแน่นอนว่า ทำได้ แต่ยากที่สุด จริงไหมครับ
-
วิธีที่สอง “หาเงินต่อเดือนเพิ่ม”
ซึ่งมีหลายวิธีเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น งานเสริม ธุรกิจ (ขอไม่ลงลึกในบทความนี้นะครับ
แต่จะเขียนให้อ่านในบทถัดๆ ไป)
-
วิธีที่สาม “ลงทุนเพิ่ม”
ซึ่งนับเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด และ เป็นไปได้มากที่สุดครับ
-
วิธีที่สี่ “เครื่องมือปิดความเสี่ยง หรือ ประกัน”
สำหรับบางเรื่อง เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือ มรดก เราอาจจะไม่สามารถประเมินได้เป๊ะๆ ว่าต้องมีเท่าไร หรือ จะส่งต่อให้คนรุ่นหลังเท่าไร อาจจะเลือกใช้เครื่องมือประกันนี้ เพื่อโอนความเสี่ยงตรงนี้ไปแทนครับ
5. แล้วถ้าอยากจะไปถึงเป้าหมายข้อ 3 (เช่นกัน) ให้เร็วขึ้น ทำอย่างไรได้บ้าง
—มาถึงตรงนี้เป็น option นะครับ (ข้ามได้)—
หากใครที่อยากท้าทายตัวเอง เช่น ถ้าฉันอยากเกษียณตอนอายุ 40 ปี ต้องทำอย่างไร วิธีการ คือ…
1. หารายได้ต่อเดือนเพิ่ม
อาจจะมาจากการทำธุรกิจส่วนตัว หางานเสริม เพื่อให้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น
2. สร้างกระแสเงินสดจากทรัพย์สินที่เรามีให้มากขึ้น
จนมี “กระแสเงินสด” มากกว่า “รายจ่ายต่อเดือน”
6. แผนรองรับ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน หรือ ไม่เป็นตามแผนที่วางไว้
การวางแผนเกษียณต้องมองให้รอบด้าน ข้อ 1-5 คือการวางแผนไปจนถึงปลายทางของชีวิต ส่วนข้อ 6 นี้คือการวางแผนว่า “ถ้าจากไปก่อนวัยอันควร มีอะไรที่เรากังวลอยู่ไหม” เช่น
– ภาระบ้าน รถ หรืออื่นๆ ที่ยังผ่อนอยู่
– ภรรยา ลูก พ่อแม่ ที่ต้องส่งเงินเลี้ยงดู
– การศึกษาและอนาคตของลูก (ถ้ามี)
ตรงนี้ศัพท์ทางการเงินเราเรียกว่า “ค่าความสามารถ” เป็นการประเมินว่า ถ้าเรามีชีวิตอยู่ เรามีคุณค่า เราสามารถที่จะทำอะไรได้บ้าง และตีเป็นมูลค่าทั้งหมดเท่าไร ตรงนี้เมื่อประเมินมาแล้วก็สามารถใช้เครื่องมือประกัน เพื่อโอนความเสี่ยงได้เช่นกันครับ
บทส่งท้าย
แผนเกษียณเป็นอีก 1 บทเรียน ที่หายไปจากหลักสูตรการเรียนการสอนเราไปเลย ถ้าจะให้ผมเปรียบเทียบก็คงคล้ายๆ วิชา “Project Management“ ที่ต้องมีการคิด วางแผน ลงมือทำ และ ปรับปรุง อยู่ตลอดเวลาตาม situation ที่เกิดขึ้น ต่างกันตรงที่ การบริหารจัดการนี้ไม่ใช่ Project แต่กลับกลายเป็นการบริหาร Life หรือ ชีวิตจริงๆ นั่นเอง ซึ่งต้องคิดเรื่องการเงินเยอะหน่อยว่าจะบริหารมันอย่างไร (หา, ใช้, ออม, ลงทุน) ด้วยวิธีการไหน และใช้เครื่องมืออะไรบ้าง
ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้ และ ตอนนี้ครับ
-ก่อน-จะ-สาย-ไป-

Founder of MoneyStudio.co | อยากเห็น “คนไทยทุกคน” ใช้ชีวิตผ่านทักษะและความรู้ทางการเงินที่ถูกต้อง ต่อยอดความฝันและเป้าหมายได้ในแบบที่ต้องการ